หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
ภาษาอังกฤษ Program of Nursing Specialty in Nurse Practitioner (Primary Medical Care)
ชื่อประกาศนียบัตร
ภาษาไทย ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
ภาษาอังกฤษ Certificate in Nursing Specialty in Nurse Practitioner (Primary Medical Care)
ชื่อย่อ ป.การพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
องค์ประกอบของหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิต ตลอดหลักสูตร 18 หน่วยกิต
วิชาภาคทฤษฎี 12 หน่วยกิต (1 หน่วยกิต = 15 ชั่วโมง)
วิชาภาคปฏิบัติ 6 หน่วยกิต (1 หน่วยกิต = 60 ชั่วโมง)
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีคุณสมบัติดังนี้
1. พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลและ
การผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จากสภาการพยาบาลที่ไม่หมดอายุ
2. เป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 1 ปี
3. ได้รับการอนุมัติลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชา
รายวิชาในหลักสูตร ตลอดหลักสูตร 18 หน่วยกิต
วิชาแกน จำนวน 2 หน่วยกิต
– ระบบสุขภาพ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2
(Health System and Health Care Service Development)
วิชาบังคับของสาขา จำนวน 2 หน่วยกิต
– การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง และการตัดสินทางคลินิก 2
(Advance Health Assessment and Clinical Judgement)
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา จำนวน 14 หน่วยกิต
– การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติ 2
(Rational Drug use for Nurse Practitioner)
– การรักษาโรคเบื้องต้นและการจัดการภาวะเร่งด่วน 4
(Primary Medical Care and Emergency Management)
– การจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน 2
(Chronic Care Disease Management in Community)
– ปฏิบัติการรักษาโรคเบื้องต้นและการจัดการภาวะเร่งด่วน 4
(Primary Medical Care and Emergency Management Practicum)
– ปฏิบัติการจัดการโรคเรื้อรังในชุมชน 2
(Chronic Care Disease Management Practicum)
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจนโยบายและระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) มีทักษะในการประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมเพื่อการตัดสินใจทางคลินิก การตรวจวินิจฉัยแยกโรค ให้การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มโรค กลุ่มอาการต่างๆที่พบบ่อย ทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถวางแผนการบูรณาการการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ สามารถตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ปฏิบัติงานเป็นทีมกับบุคลากรในทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ รวมทั้งการใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
เมื่อสิ้นสุดการศึกษาอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมสามารถ
1. อธิบายนโยบายสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพชุมชนได้
2. ระบุแนวทางประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมและการตัดสินทางคลินิก เพื่อการตรวจวินิจฉัยแยกโรคได้
3. ให้การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มโรค กลุ่มอาการต่างๆที่พบบ่อยทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะเฉียบพลันและเรื้อรังได้
4. ระบุแนวทางการประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้
5. วางแผน บูรณาการการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ได้
6. ปฏิบัติงานเป็นทีมกับบุคลากรสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการได้
7. ใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพได้
8. สร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ เคารพในสิทธิของผู้รับบริการบนพื้นฐานในขอบเขตการปฏิบัติงานและจริยธรรมในวิชาชีพได้
หลักการและเหตุผล
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ มีทิศทางชัดเจนมุ่งสู่การเป็นระบบบริการสุขภาพพอเพียงที่เน้นการใช้ทรัพยาการด้านสุขภาพอย่างจำเป็นและคุ้มค่า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพระบบบริการที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การลดภาวะเสี่ยง การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง บริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งการพัฒนาระบบบริการอุบัติเหตุฉุกเฉินและระบบการส่งต่อข้ามพื้นที่ การจัดบริการรายกรณี ในการดูแลรักษาเฉพาะโรค ที่ครอบคลุมโรคที่มีการเข้าถึงบริการต่ำ โรคที่ต้องได้รับบริการเร่งด่วน และโรคที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการการดูแลต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นต้น
พยาบาลเวชปฏิบัติ เป็นบุคลากรในทีมสุขภาพมีบทบาทในการดูแลสุขภาพที่เน้นความครอบคลุมของการจัด บริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเป็นองค์รวม สามารถประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุม เพื่อการตัดสินใจทางคลินิก การตรวจวินิจแยกโรค ให้การรักษาโรคเบื้องต้นในกลุ่มโรคที่พบบ่อยทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ประเมินปัญหาที่ซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยและวางแผนการบูรณาการดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ตลอดจนสามารถตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ปฏิบัติงานเป็นทีมกับบุคลากรในทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องและประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ รวมทั้งการใช้กลวิธีที่หลากหลายในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติงานบนพื้นฐานของการเห็นคุณค่าของการให้บริการ ปฐมภูมิ จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ คำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และมีจริยธรรมในการปฏิบัติการพยาบาล
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพของพยาบาลเวชปฏิบัติ จึงดำเนินการเปิดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) สำหรับพยาบาลวิชาชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมาและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยให้สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุข สามารถตอบสนองความต้องการบริการของประชาชน และการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาต่อไป